top of page

Thailand Digital Design Activity News Update

Chula, DG, SICT, NDR and TESA ผนึกกำลังร่วมกันสร้างวงการ Digital Electronics Design หวังชูประเทศไทย เป็นศูนย์นักออกแบบทางด้านดิจิทัล (Digital Design) ซึ่งเป็นจุดแข็งที่มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก


ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็นดีอาร์ โซลูชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย ร่วมจัดกิจกรรม Digital Design With FPGA Camp 2024



ระหว่างวันที่ 12-25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ จำนวน 46 คน ซึ่งในแต่ละวันจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ และประเด็นต่างๆ สำหรับการก้าวไปสู่นักออกแบบดิจิทัลแบบมืออาชีพ โดยทีมวิศวกรที่มากประสบการณ์ จาก บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด และบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่จัดเวลามาให้ความรู้ คำแนะนำ ตลอดจนการให้คำปรึกษา และพิจารณาตัดสินผลการดำเนินงานตลอดการเข้าค่ายทั้ง 10 วันอีกด้วย


สำหรับโจทย์ในปีนี้ท้าทาย และสนุก เพราะเป็นการแข่งขันออกแบบวงจรดิจิทัล ด้วยการพัฒนาเกม Fruit Catcher บนแพลตฟอร์ม FPGA โดยใช้การออกแบบลอจิกขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันต้อง พัฒนาระบบประมวลผลภาพความเร็วสูงที่ทำงานร่วมกับหน่วยความจำ DDR และสร้างการเคลื่อนไหวแบบ Real-Time


เกมนี้ผู้เล่นต้องควบคุมตะกร้าเพื่อรับผลไม้ที่ตกลงมา โดยระบบต้องจัดการทั้งการแสดงผล การเคลื่อนที่ของวัตถุ และการตอบสนองต่อการควบคุมของผู้เล่นอย่างราบรื่น ผู้เข้าแข่งขันสามารถเพิ่มคุณสมบัติพิเศษเพื่อเพิ่มความสนุก แต่ต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาความเร็วในการประมวลผล


โจทย์นี้ทดสอบทักษะการออกแบบวงจรที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ ทั้งด้านการจัดการทรัพยากร การออกแบบระบบประมวลผลความเร็วสูง และการสร้างระบบโต้ตอบแบบ Real-Time


ซึ่งผลการแข่งขัน แต่ละคนทำคะแนนได้กันเป็นส่วนใหญ่ บ่งบอกให้รู้ว่า ผู้เข้าแข่งขัน มีความเก่ง สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และศักยภาพสูงอีกด้วย โดยมีเกณฑ์ในการคิดคะแนนสรุปได้ดังนี้

1. ทำงานได้ถูกต้องตามโจทย์ที่กำหนดบนบอร์ดจริง : 50%

2. Code Style ผู้อื่นอ่าน ทำความเข้าใจได้ง่าย และมีความถูกต้องตามหลักการออกแบบ : 25%

3. ความเหมาะสมของการใช้ Resource (พิจารณาเมื่อวงจรทำงานได้จริงแล้วเท่านั้น ): 25%


ของรางวัล

ALINX AX7010 FPGA Development Kit จำนวน 8 รางวัล พร้อมใบประกาศณียบัตร


รายชื่อผู้ได้รับรางวัลการแข่งขัน FPGA Design Challenge 2024 มีดังต่อไปนี้:


รางวัลชนะเลิศ:

นายกรวิชญ์ ฮิคารุ คูรากาเกะ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1:

นายสุทธิกานต์ แพนลา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)


รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2:

นายธิติพงศ์ ปวิตรปก (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


รางวัลชมเชย (5 รางวัล) มีดังรายชื่อต่อไปนี้

1. นายวิษณุ พรภาวนาเลิศ (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

2. นายสดายุ เดชเดชะสุนันท์ (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

3. นายปุญญพัฒน์ วัฒนสุภานนท์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

4. นายพิชญุตม์ ลือปิยะพาณิชย์ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

5.นายสุกฤต แซ่เล้า (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)

และผู้ผ่านการอบรม จะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองความสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ทุกคนอีกด้วย





สำหรับในงานพิธีมอบรางวัล และประกาศณียบัตรนั้น ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.นภคนัย อาชวาคม รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้มอบรางวัล และใบประกาศณียบัตร พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนากำลังคนทางด้านการออกแบบดิจิทัล ซึ่งจะได้สอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลทางด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนกล่าวขอบคุณนิสิตนักศึกษาที่เสียสละเวลาช่วงปิดเทอมมาฝึกฝนหาความรู้กันตลอดทั้ง 10 วัน และทีมคณะอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าพร้อมเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญคือ ความร่วมมืออย่างดีของบริษัท และสมาคมฯ ที่ร่วมจัดกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 8 แล้วด้วย


และในงานยังจัดให้มีช่วงบรรยายพิเศษ (Special Talk) ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.พิชญะ สิทธิอมร ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์ มาร่วมบรรยายพิเศษ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะด้าน FPGA ให้เชี่ยวชาญ แล้วได้มีโอกาสร่วมพัฒนา 3D Face Scanner ด้วย FPGA จนนำไปสู่เชิงพาณิชย์กับบริษัท Lumio ซึ่งลูกค้าหลักจะเป็นต่างประเทศ และกำลังขยายตลาดในประเทศไทย กับกลุ่มคลีนิคแพทย์ความงาม นอกจากนี้ยังได้เปิดบูธ แสดงผลงานของบริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด ที่นำเสนอ เชิญชวน ในการเป็นนักออกแบบทางด้าน Hardware พร้อมมีผลงานตัวอย่างมา Demo ให้เห็น และซักถามกันด้วย ส่วนบูธของบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) โชว์ความล้ำของตัว Chip ที่ทีมงานบริษัทได้ออกแบบขึ้นมา มีทั้ง RFID, NFC นิสิตนักศึกษาให้ความสนใจสอบถามกันมากมาย

ซึ่งงานพิธีมอบรางวัล และประกาศณียบัตร ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ ห้อง A201 อาคารวิศวกรรม 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ.พญาไท กรุงเทพฯ




bottom of page